5 จุดสังเกต มาแบบนี้มิจฉาชีพชัวร์!

Waranyu Suknantee
Bitkub.com
Published in
Feb 6, 2024

--

how to spot scammer

ทุกวันนี้มิจฉาชีพกำลังระบาดอย่างหนักแถมยังมีวิธีหลอกเหยื่อที่แนบเนียนจนตกเป็นเหยื่อกันนับไม่ถ้วน แต่ถ้าเรามีสติและช่างสังเกตก็จะแยกแยะมิจฉาชีพได้อย่างไม่ยากเย็น

ในบทความนี้ Bitkub Blog ได้รวบรวมจุดที่สามารถสังเกตได้ว่าคุณอาจกำลังเจอกับมิจฉาชีพ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันครับ
.

1.ข้อเสนอดูดีเกินจริง

เนื่องจากความโลภไม่เข้าใครออกใคร เหล่ามิจฉาชีพจึงมักใช้ประโยชน์จากความโลภในการหลอกลวง ยกตัวอย่างเช่น อ้างผลตอบแทนสูง ๆ 20% — 100% ต่อปี ซึ่งก็มีผู้หลงกลเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่อย่างที่ทุกคนทราบกันดี การลงทุนเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงเสมอ หากมีการการันตีผลตอบแทน ไม่ว่าจะมากหรือน้อย นักลงทุนก็ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษก่อนตัดสินใจดำเนินการใด ๆ

.

2.เร่งให้ตัดสินใจ

อีกหนึ่งวิธียอดฮิตที่มิจฉาชีพใช้หลอกเหยื่อก็คือการสร้าง Sense of urgency หรือทำให้เหยื่อรู้สึกว่าต้องรีบดำเนินการ เช่น พูดย้ำว่า “โปรโมชั่นนี้จะหมดเขตวันนี้แล้วนะ ถ้าไม่ทำวันนี้ก็ไม่รู้จะมาอีกเมื่อไหร่” หรือ “ถ้าโอนวันนี้ รับเพิ่มให้อีก 20%”

การกดดันให้รีบตัดสินใจแบบนี้เป็นการเล่นกับความโลภของมนุษย์อีกรูปแบบหนึ่ง หากเราคล้อยตามก็อาจทำให้เรามองข้ามสัญญาณบางอย่างหรือรีบร้อนจนตัดสินใจผิดพลาด และตกเป็นเหยื่อได้โดยง่าย

.

3.อ้างตัวเป็นหน่วยงานรัฐ

หากคุณได้รับสายโทรศัพท์ที่อ้างว่าโทรมาจากหน่วยงานรัฐบาล โดยอาจมาพร้อมกับข้ออ้างที่นิยมใช้ในช่วงนี้ ได้แก่ “คุณมีพัสดุติดอยู่ที่ศุลกากร” “เบอร์โทรคุณจะถูกยกเลิก” หรือ “บัญชีของคุณต้องสงสัยว่าเข้าข่ายฟอกเงิน” เป็นต้น

แต่โดยทั่วไปแล้ว หากหน่วยงานรัฐต้องการติดต่อกับประชาชน พวกเขาจะใช้การส่งจดหมายราชการมายังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านเพื่อตามตัวให้เราไปติดต่อเองเป็นส่วนมาก

.

4.เขียนคำผิด

หากเป็นการส่งอีเมลหรือข้อความ โดยเฉพาะสถาบันการเงินหรือบริษัทที่มีชื่อเสียง พวกเขาจำเป็นต้องรักษาความเป็นมืออาชีพและมีการตรวจสอบคุณภาพงานเขียนอยู่เสมอ

ดังนั้น หากพบการเขียนที่ดูไม่เป็นมืออาชีพ เช่น เขียนคำผิด, เขียนผิดไวยากรณ์, ดูไม่เป็นธรรมชาติ ฯลฯ หรือการใช้ Email ที่เป็น Public Domain เช่น xxx@gmail.com แต่อ้างว่ามาจากบริษัท ก็ให้สงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพและเพิกเฉยกับอีเมลนั้น ๆ

.

5.มีปุ่มหรือลิงก์ให้คลิกไปเว็บอื่น
นอกจากการเขียนผิดแล้ว บางครั้งข้อความหรืออีเมลที่เราได้รับอาจมาพร้อมกับปุ่มหรือลิงก์ที่ให้เรากดเข้าไปเพื่อดำเนินการต่อ แต่นี่ก็อาจเป็นอีกวิธีที่มิจฉาชีพใช้ในการหลอกเหยื่อ

ซึ่งปุ่มหรือลิงก์ที่แนบมานั้นอาจพาเรายังเว็บไซต์ปลอม เว็บไซต์ผิดกฎหมาย ฯลฯ ที่เข้าไปแล้วอาจติดทำให้อุปกรณ์ติดไวรัสหรือเจอปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ ทางที่ดี หากได้รับข้อความหรืออีเมลที่มีปุ่มหรือลิงก์ให้กด อย่าไปกดจะดีที่สุด

_________________________________________

บทความที่คุณอาจสนใจ
10 วิธีป้องกันตัวจากมิจฉาชีพออนไลน์
รวมคำโกหกยอดฮิตของมิจฉาชีพ

_________________________________________

*คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

**สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

***ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต”

--

--